อาการกษัยนั้นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่านะครับว่า แท้จริงแล้วนั้นมีความหมายอย่างไร คำอธิบายเพิ่มเติม : กษัย กระษัยเส้น
คือ อะไร ? ผมคัดมาจากตำราอีก 2 เล่มมีเนื้อหา และการอ้างอิงตอนท้ายนะครับเพื่อไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของท่าน และเป็นการแสดงความเคารพ
สิทธิการิยะ (คำกล่าวขึ้นต้นตำราไทยเก่าๆชอบมากครับคำนี้)
จะกล่าวลักษณะกระษัย(กะไษย)โรค ซึ่งพระอาจารย์ระมวล(ประมวล)ไว้มีประเภท ๒๖ จำพวก
กระษัย(กะไษย)๘ จำพวก คือ กระษัย(กะไษย)กล่อน ๕ กระษัย(กะไษย)น้ำ ๑ กระษัย(กะไษย)ลม ๑ กระษัย(กะไษย)ไฟ ๑ รวม ๘ จำพวกนี้ เกิดแต่กองสมุฏฐานธาตุ มีแจ้งอยู่ในคัมภีร์วุฒิกะโรค กล่าวคือ กล่อม(กล่อน) ๕ ประการโน้นแล้ว
จะกล่าวแต่กระษัย(กะไษย)อันบังเกิดเป็นอุปาติกะโรค ๑๘ จำพวก คือ
กระษัย(กะไษย) ล้น กระษัย(กะไษย)ราก กระษัย(กะไษย)เหล็ก กระษัย
(กะไษย)ปู กระไสยจุก กระษัย(กะไษย)ปลาไหล กระษัย(กะไษย) ปลาหมอ กระษัย(กะไษย)ปลาดุก กระษัย(กะไษย)ปลวก กระษัย(กะไษย)ลิ้น กระบือ กระษัย(กะไษย)เต่า กระษัย(กะไษย)ดาน กระษัย(กะไษย)ทัน กระษัย
(กะไษย)เสียด กระษัย(กะไษย)ไฟ กระษัย(กะไษย)น้ำ กระษัย(กะไษย)เชือก
กระษัย(กะไษย)ลม รวมเป็น ๑๘ จำพวก ดังกล่าวมานี้ แค่ชื่อก็ทำเอาหนาวๆร้อนๆ ไปเลย ลักษณะการใช้ภาษานั้นมีทั้่งการเขียนเเบบเก่าและการเขียนแบบใหม่นะครับ ประโยชน์เพื่อเวลาไปอ่านตำรายาตามสมุดข่อย หรือคัมภีร์ใบลานจะได้ไม่...งง
ลำดับต่อไปเรามาว่ากันทีละคำ ทีละข้อกันไปเลย
๑. ว่าด้วยกระษัย(กะไษย)ล้น กระษัย(กะไษย)ล้นนั้นเกิดเพื่อน้ำเหลือง โดยกำลังลมพัดให้เป็นฟอง กระทำให้ท้องลั่นขึ้นแลลั่นลง ถ้าข้างขึ้นทำให้แดกอก ถ้าข้างแรมทำให้ถ่วงหัวเหน่า ดังจะขาดใจตาย
๒. ว่าด้วยกระษัย(กะไษย)ราก กระษัย(กะไษย)รากเกิดเพื่อลมร้อง ทำให้อาเจียนลมเปล่า ท้องลั่นดังจ๊อก ๆ ตึงไปทั้งกายดังเอาเชือกรัดไว้ ทำให้ร้องครางอยู่ทั้งกลางวันแลกลางคืน ดังใจจะขาดตาย
๓. ว่าด้วยกระษัย(กะไษย)เหล็ก มีอาการให้ปวดหัวเหน่า แลทำให้ท้องน้อยแข็งดังแผ่นหิน จะไหวตัวไปมามิได้ ปวดขบดังจะขาดใจตาย
๔. ว่าด้วยกระษัย (กะไษย) ปู กระษัย (กะไษย) ปูนี้เกิดเพื่อโลหิตคุมกัน มีสัณฐานดังปูทะเล เข้ากินอยู่ในกระเพาะข้าว กระทำให้ปวดขบท้องน้อยเป็นกำลัง เมื่อกินอาหารลงไป ค่อยสงบลง เมื่อสิ้นอาหารแล้ว กระทำให้พัดอยู่
ดังกงเกวียนลั่นอยู่ตามลำไส้เจ็บดังจะขาดใจตาย
ครั้งแรกที่ผมอ่านอาการกษัยในตำราแพทย์แผนไทย ไม่คิดเลยว่าอาการกษัยที่คนในยุคก่อนจะทำการบันทึกไว้ละเอียดขนาดนี้ อ่านไปก็ต้องมานั่งคิดเทียบเคียงดูกับอาการปวดเมื่อยของตนเอง ว่าเรานั้นตรงกับลักษณะใดมากที่สุด ด้วยใจหมายจะได้สมุฎฐานที่ตัังที่เกิดของโรค เพื่อจะได้เข้ายารักษาตัวเองในลำดับต่อไป แต่อ่านมาได้แค่ 4 อาการนี้ของโรคกษัย หรือโรคเสื่อสภาพของร่างกายคนเรานี้ ก็ทำเอาขนลุกขนชันเป็นแทบๆ ล้น ราก ปู เหล็ก ฟังอาการแล้วน่ากลัวจริงๆ อาการปวดเมื่อยตามร่างกายของเราน่าจะยังไม่ถึงขั้น คำเปรียบเทียบที่ครูหมอโบราณใช้นั้น ดูจะน่ากลัวไปนิดๆ แต่คิดไปคิดมาผมว่าก็สมเหตุสมผล เพราะคนแต่ละคนนั้นมีความอดทนไม่เท่ากัน บางเจ็บน้อยว่าเจ็บมาก บางเจ็บมากแต่ฝึกความอดทนมาดีก็ดีเหมือนไม่ค่อยเจ็บเท่าไรนัก ....
พักดื่มน้ำแล้ว+ขนมนิดหน่อย ก็มาเขียนกันอีกรอบ ลำดับต่อไปนะครับ
๕. ว่าด้วยกระษัย(กะไษย)จุก กระษัย(กะไษย)จุกเกิดขึ้นเนื่องจากลมเดินแทงเข้าไปในเส้นเอ็นภายใน เป็นอาคันตุวาต ทำให้เส้นพองขึ้นในท้อง ทำให้จุกแดกขึ้นดังจะขาดใจตาย ต้องนอนคว่ำร้องคราวอยู่ จะนอนหงายมิได้
มีทุกขเวทนาเป็นอันมาก
๖. ว่าด้วยกระษัย(กะไษย)ปลาไหล กระษัย(กะไษย)ปลาไหลนี้ เมื่อแก่เข้าเอาหางแทงลงไปที่หัวเหน่าแลทวารหนักทวารเบา ทำให้ขัดอุจจาระปัสสาวะ อุจจาระเหลืองดังขมิ้น หรือแดงดังน้ำฝางต้มหรือน้ำดอกคำ ตัวกระษัย
(กะไษย)นั้นพันขึ้นไปตามลำไส้ หัวนั้นหยั่งไปที่ชายตับแลกระเพาะข้าว
บริโภคอาหารเข้าไปเมื่อใด ตัวกระษัย(กะไษย)นั้นก็กินอาหารด้วยทุกเวลา
ถ้าไม่ได้กินอาหารเข้าไป ตัวกระษัย(กะไษย)นั้นก็กัดชายตับชายม้านเจ็บปวดยิ่งนัก ทำให้เมื่อยขบไปทุกข้อกระดูก บางทีทำให้ขนลุกชูชันดังไข้จับ
๗. ว่าด้วยกระษัย(กะไษย)ปลาหมอ กระษัย(กะไษย)ปลาหมอนี้คล้ายกับมีจิตร์วิญญาณ เกิดขึ้นในลำไส้ ข้างขึ้นกระษัย(กะไษย)บ่ายศีรษะมากัดชายตับชายม้ามแลปอด ทำให้จุกแดก ข้างแรมกระษัยบ่ายศีรษะลงในท้องน้อยแลหัวเหน่า ทำให้ขัดอุจจาระแลปัสสาวะ เจ็บปวดเป็นกำลัง ร้องครางดังใจจะขาดตาย
๘. ว่าด้วยกระษัย(กะไษย)ปลาดุก กระษัย(กะไษย)นี้เกิดเพื่อโลหิตแลน้ำเหลืองระคนกัน คล้ายกับมีจิตร์วิญญาณเหมือนปลาดุกจริง ๆ เกิดขึ้นในกระเพาะข้าว ถ้าสตรีเกิดขึ้นที่มดลูก มีลักษณะดังหญิงครรภ์ได้ ๗ เดือน ๘ เดือน มีอาการแทงไปทางชาย ขวา ถ้าข้างขึ้นยันไปยอดอก มีอาการเจ็บอก มิได้ บางทีทำให้หอบให้สะอึก ถ้าข้างแรมเลื่อนลงไปอยู่ท้องน้อย
แลหัวเหน้า(หัวเหน่า) บางทีต่ำลงไปกระดูกสันหลัง ตึงลงไปต้นข้าทั้ง ๒ ถ้าไม่รู้ก็ว่ามีครรภ์
ลักษณะของกษัยนั้น ท่านสามารถติดตามศึกษาได้ที่
- ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขา เวชกรรม เล่ม ๒
โดย กองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
- ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๒ โดย พระยาพิศณุประสาทเวช
สำนักพิมพ์ดวงดี
ข้อความเล่าคำครูนี้ไม่สามารถนำไปอ้างอิงประกอบเอกสารใดๆได้ ผู้สนใจศึกษาควรใช้วิจารณาณในการพิจารณาอีกครั้งหรือค้นหาตำราแพทย์แผนไทยขึ้นทำการศึกษาให้ระเอียดด้วยตัวท่านเอง
สำหรับวันนี้ขอจบการเรื่องเล่าคำครูไว้แค่นี้ก่อนนะครับ
ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งกาย - ใจ นะครับ |